PM 2.5 มีผลต่อสุขภาพอย่างไร ตอนที่ 1

PM 2.5 มฤตยูเงียบที่หมดทางต่อกร?

ช่วงนี้ใครต่างก็เริ่มกลัวปัญหาฝุ่นละอองเป็นพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนหลายคนเริ่มกลับมาใส่หน้ากากป้องกันจนเป็นที่น่าตกใจ ตอนเช้าๆไม่ว่าจะมองจากมุมของท้องถนน ทางด่วน ตึกรามบ้านช่อง เราจะพบว่าท้องฟ้าสีหม่นที่เห็นไม่ใช่หมอกควัน แต่นั่นคือ มลพิษทางอากาศที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก และล่าสุดเว็บไซต์ airvisual.com รายงานสภาพปริมาณมลพิษทางอากาศโดยใช้หน่วย AQI ประมวลผล ในวันที่ 30 กันยายนพบว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ติดอันดับที่ 2 เพราะมีมลพิษจากปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่า AQI อยู่ที่ 175

เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมมลพิษในอากาศ เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, อเมริกา ที่ปัจจุบันมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 12, 14 และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับค่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก เพราะเรื่องนี้รัฐบาลเอาจริงเอาจังในเชิงนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพพลเมืองในประเทศ เช่น สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลัก ตลอดจนควบคุมการปล่อยสารพิษของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆอย่างเคร่งครัด

 

PM 2.5 คืออะไร?

คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters หรือ ชื่อของค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 ส่วนตัวเลข 2.5 นั้นมาจากหน่วยวัดเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคฝุ่นที่มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตรนั่นเอง ขนาดเล็กกว่าเส้นผมประมาณ 20 เท่า ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศจนเกิดเป็นหมอกควันที่เราเห็นกันทุกเช้า

 

PM 2.5 มีอะไรเป็นส่วนประกอบ?

สารตั้งต้นของ PM 2.5 ก่อนจะรวมตัวกับไอน้ำ และฝุ่นควัน คือ ก๊าซพิษ ซึ่งได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) รวมทั้งมีสารพวกโลหะหนักเช่น ปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิกหรือสารหนู (As) หรือ อาจพบสารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ ซึ่งแหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนบนของไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงหมอกควันพิษข้ามพรมแดน การคมนาคมขนส่ง โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์

การผลิตไฟฟ้า ซึ่งแม้จะมีค่า PM2.5 น้อยกว่าการเผาในที่โล่งและการคมนาคมขนส่ง แต่กลับมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด อุตสาหกรรมการผลิต ในจังหวัดระยอง ซึ่งเกิดจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม ด้วยองค์ประกอบของสารพิษเหล่านี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

PM 2.5 อันตรายอย่างไร?

เนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจนขนจมูกไม่สามารถกรองได้ จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคต่างๆดังนี้ เรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก

เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระขึ้นจนรบกวนสมดุลต่างๆ ของร่างกาย กระตุ้นการหลั่งสารก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย เพื่อความเสี่ยงโรคเรื้อรังได้ง่าย สามารถกระตุ้นให้ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดแย่ลง อาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ด้วย

 

ข้อแนะนำและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5

– ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

– ออกกำลังกายในที่มีฝุ่นน้อย ไกลจากถนน อาจเปลี่ยนเป็นออกในบ้านหรือฟิตเนส  แทนการวิ่งตามสวนสาธารณะ

– ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือต้องผ่านที่โล่งแจ้ง โดยแนะนำให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าห้า (N95)” โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรัง

– รับประทานผักและผลไม้ หรืออาหารเสริม อาหารที่มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อไว้ใช้ต่อกรกับฝุ่นขนาดจิ๋วที่เข้าไปในร่างกาย

 

โดยที่เราสามารถติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ได้ที่ https://aqicn.org/city/bangkok/  ซึ่งรายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ จาก The World Air Quality Index โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหามลภาวะในอากาศ

 

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังตื่นตระหนกกับเรื่องของ PM2.5 องค์การอนามัยโลกและนานาชาติก็กำลังหาวิธีการรับมือกับสิ่งนี้เพื่อช่วยคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างจริงจัง เราควรมาร่วมกันผลักดันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้กำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ขึ้น เพื่อเราจะได้มีอากาศดีๆกลับมาหายใจอีกครั้ง

 

อ้างอิงจาก

aqmthai.com

www.who.int/topics/air_pollution/en

www.who.int/phe/health_topics/outdoorair/outdoorair_aqg/en

www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Urban-Revolution/Air-Pollution/Right-To-Clean-Air/activity/The-Art-Exhibition/

data.worldbank.org/country/thailand

www.researchgate.net/publication/8046493_Environmental_nano-pollutants_ENP_and_aquatic_micro-interfacial_processes

www.who.int/mediacentre/factsheets/fs313/en

www.who.int/mediacentre/news/releases/2016/air-pollution-rising/en